วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สบู่ (Soap) : ชนิดและส่วนประกอบหลักของสบู่



สบู่ (Soap)เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ ได้จากการนำเอาน้ำมันพืช หรือไขมันสัตว์ผสมกับน้ำด่างที่ได้จากการนำเอาขี้เถ้ามาแช่น้ำ ทำขึ้นเพื่อใช้ทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้า มีหลักฐานพบว่า มนุษย์รู้จักใช้สบู่มาตั้งแต่ 2800 ปี ก่อนคริสตกาล โดยคำว่า “สบู่ (Soap) มาจากชื่อของภูเขา Sapo ใน สมัยโรมัน ซึ่งเป็นที่ทำพิธีบูชายัญสัตว์ เมื่อเกิดฝนตก น้ำฝนได้ชะเอาไขสัตว์มารวมกับขี้เถ้าแล้วไหลลงสู่แม่น้ำ เมื่อมีผู้หญิงนำเสื้อผ้าไปซักในแม่น้ำ ก็พบว่า เสื้อผ้าเหล่านั้นซักออกได้ง่าย สบู่ในยุคต้นจึงมีไว้ใช้ทำความสะอาด หลังจากนั้น จึงได้มีการคิดค้นสบู่ขึ้นเพื่อใช้ในการชำระล้างร่างกาย

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันสบู่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก และได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการสังเคราะห์สารใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสารชำระล้างทดแทนมากมาย และสบู่ตามความหมายของคำที่ใช้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมายถึง เกลือโซเดียม (sodium salt) หรือเกลือโพแทสเซียม (potassium salt) หรือเกลือแอมโมเนียม (ammonium salt) หรือเกลือเอมีน (amine salt) ของกรดไขมัน (fatty acid) ของน้ำมัน หรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ เป็นผลผลิตจากปฏิกิริยาระหว่างด่างกับไขมัน (Saponification) โดยได้กลีเซอรีน (glycerine) ผสมร่วมออกมาด้วย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชำระล้าง ขจัดคราบสิ่งสกปรก หรือทำความสะอาดร่างกาย สบู่หรือเกลือของกรดไขมัน เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างเบสในปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำมันที่ได้จาก พืชหรือสัตว์ก็ได้ ปฏิกิริยาเช่นนี้เรียกว่า กระบวนการแซพอนิฟีเคชัน (saponification) ซึ่ง จะได้เป็นของแข็งลื่นมือ ใช้ประโยชน์ในการเป็นสารทำความสะอาดชำระล้างและขจัดคราบสิ่งสกปรก จากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกับเบส

ชนิดของสบู่ จำแนกได้ดังต่อไปนี้
1.    สบู่ก้อน (hard soap) เป็น สบู่ที่ได้มาจากการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดไขมันกับสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ เนื้อสบู่ที่ได้เป็นก้อนมีลักษณะทึบแสง เมื่อเวลาแห้ง และเย็นมีโซดาไฟเป็นส่วนประกอบหลัก มีเกลือโพแทสเซียมของกรดไขมัน ใช้สำหรับภายนอกเท่านั้น ไม่ควรใช้สบู่ก้อนสระผม เพราะจะทำให้เส้นผมและหนังศีรษะกระด้าง
2.    สบู่ชนิดอ่อน (soft soap) ลักษณะคล้ายน้ำผึ้งหรือเยลลี่ (jelly) สีเหลืองใสทำด้วยน้ำมันมะกอกและโซดา
3.    สบู่เหลว (liquid soap) มีส่วนผสมของเกลือโพแทสเซียมกับกรดไขมัน และอาจมีส่วนผสมของน้ำมันมะกอก เมล็ดถั่ว เมล็ดฝ้าย และสมุนไพรอื่นๆ
4.    สบู่ไขมัน (fat soap) เป็น สบู่ที่มีการเติมสารอิมอลเลียนท์ที่เป็นฟิล์มบาง ซึ่งเมื่อใช้แล้วจะติดอยู่บนผิว ท้าให้ผิวลื่น และป้องกันการสูญเสียความชื้นจากผิวเหมาะสำหรับคนที่มีผิวแห้ง
5.    สบู่ใส (transparent soap) หรือสบู่กลีเซอรีน (glycerine soap) เป็นสบู่ที่มีเนื้อสบู่ทำเป็นก้อน มีความแข็งพอ ๆ กับสบู่แข็ง แต่มีลักษณะใส ผิวมันเงา การที่สบู่มีลักษณะใส เนื่องจากมีส่วนประกอบของเอทานอล กลีเซอรีน และน้ำตาลทราย สบู่นี้มีความสามารถในการทำความสะอาดเหมือนกับสบู่แข็ง แต่มีราคาแพงกว่า โดยทั่วไปนิยมผลิตจากส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก ไขมันวัว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และยางสน
6.    ซินเดท (syndet) เป็นสบู่ที่มีส่วนผสมของสารที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง

ส่วนประกอบหลักของสบู่ มีดังนี้
1.    ไขมันหรือน้ำมัน ไขมันแต่ละชนิดประกอบด้วยไขมันมากกว่า 1 ชนิด ตามธรรมชาติกรดไขมันเหล่านี้จะไม่อยู่อิสระ แต่รวมกับสารกลีเซอรีนในไขมันอยู่ในรูปกลีเซอไรด์ รวมตัวเป็นสบู่ สารที่เกาะติดกับไขมันก็จะหลุดออกมาเป็นกลีเซอรีน กรดไขมันแต่ละชนิดเมื่อรวมตัวกับเบสแล้ว จะให้สบู่ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น กรดลอริก (lauric acid) มี มากในน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันที่ทำปฏิกิริยากับเบสแล้วให้สารที่มีฟองมาก เป็นต้น ดังนั้น จึงควรศึกษาคุณสมบัติของสบู่ที่ได้จากไขมันต่างชนิดกัน ดังนี้
a.    ไขมันวัว (tallow) ให้สบู่ที่แข็งเปราะมีสีขาว อายุการใช้งานนานทนทาน แต่มีฟองน้อยมักจะต้องใช้ร่วมกับน้ำมันอื่น ๆ
b.    ไขมันแพะ (goat fat) จะได้สบู่ที่มีเนื้อนุ่มให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ผิวนุ่มเนียน
c.    ไขมันไก่และไขมันหมู (lard) เนื้อสบู่ที่ได้จะเละไม่จับตัวเป็นก้อน ต้องผสมกับน้ำมันชนิดอื่น ๆ
d.    ไขมันแกะ ให้สบู่ที่แข็ง เปราะ แต่มีฟองน้อย มักจะต้องใช้ร่วมกับน้ำมันอื่น ๆ
e.    น้ำมันรำข้าว (rice bean oil) ให้วิตามินอีมาก ทำให้สบู่มีความชุ่มชื้น บำรุงผิว ช่วยลดความแห้งของผิว
f.     น้ำมันปาล์ม (palm oil) สบู่ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มนี้จะแข็งเล็กน้อย ให้ฟองน้อยแต่ฟองมีความคงทนอยู่นาน มีคุณสมบัติในการชำระล้างได้ดี แต่จะทำให้ผิวแห้ง น้ำมันปาล์มเป็นไขมันที่สามารถใช้ทดแทนไขมันสัตว์ได้ดีแต่ผลิตเองได้ยาก เพราะต้องอาศัยเครื่องบีบคั้นเอาน้ำมัน
g.    น้ำมันละหุ่ง (castor oil) น้ำมัน ละหุ่งจะสกัดได้จากน้ำมันเมล็ดละหุ่ง ต้องใช้วิธีบีบโดยไม่ใช้ความร้อน เพื่อหลีกเลี่ยงโปรตีนอันตรายที่จะออกมาพร้อมน้ำมันละหุ่ง เป็นน้ำมันที่ใช้เพิ่มคุณสมบัติความชุ่มชื้นและนุ่มผิว สบู่จากน้ำมันละหุงจะช่วยให้ผิวนุ่ม ซึ่งน้ำมันละหุ่งจะทำให้มีฟองขนาดเล็กจำนวนมาก
h.    น้ำมันมะกอก สบู่ที่ได้จะแข็ง ใช้ได้นาน มีฟองเป็นครีมนุ่มนวลมาก ให้ความชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้ง มีราคาแพง เป็นน้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศ
i.      น้ำมันจมูกข้าวสาลี อุดมไปด้วยวิตามินอี และให้ความชุ่มชื้น มีฟองมากน่าใช้
j.      น้ำมันเมล็ดทานตะวัน (sunflower oil) ช่วยทำให้สบู่นุ่มขึ้น แต่มีฟองน้อย
k.    น้ำมันงา เป็นน้ำมันที่ให้วิตามินอีและให้ความชุ่มชื้น ช่วยในการรักษาผิว แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว บางคนอาจไม่ชอบ
l.      น้ำมันถั่วเหลือง (soybean oil) ให้วิตามินอีและความชุ่มชื้น แต่มักเกิดฟองมากขณะทำปฏิกิริยา และทำให้เนื้อสบู่มีรูพรุนไม่สวยงาม
m.   ขี้ผึ้ง (bees wax) จะได้สบู่เนื้อแข็ง อายุการใช้งานนาน ฟองน้อยแต่ทนนาน
n.    กรดสเตียริก เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่ไม่มีพันธะคู่อยู่ในโมเลกุล การผสมกรดสเตียริกลงในสบู่ จึงทำให้สบู่มีลักษณะแข็ง แต่ถ้าผสมมากเกินไป อาจทำให้สบู่เหม็นหืนง่าย
o.    น้ำมันมะพร้าว (coconut oil) สบู่ที่ผลิตจากน้ำมันมะพร้าวนี้ จะมีเนื้อแข็งกรอบ แตกง่าย สีขาวข้น มีฟองมากเป็นครีม ให้ฟองที่คงทนพอควร แต่มักจะทำให้ผิวแห้ง ต้องใช้น้ำมัน   อื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

อนึ่ง “สบู่ (soap) ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น สบู่จึงเป็นเครื่องสำอางชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดร่างกาย เดิมใช้เพื่อทำความสะอาดร่างกายเท่านั้น ปัจจุบันกระบวนการผลิตสบู่มีการเพิ่มส่วนผสมอื่น ๆ เพื่อให้สบู่มีสรรพคุณตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น มีสีสันที่สวยงามน่าใช้ มีกลิ่นหอม และมีสรรพคุณทางยาในทางการค้า มีการใช้สารสังเคราะห์เพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์น่าใช้ บรรจุภัณฑ์สวยงาม แต่แฝงไปด้วยสารเคมีที่เป็นอันตราย มีพิษตกค้างและราคาสูง


ดังนั้น ผู้ประกอบการเวชสำอางในปัจจุบัน จึงได้นิยมใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ในธรรมชาติมา เป็นส่วนผสมเพิ่มเติมในสบู่ แทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ พืชสมุนไพรที่ใช้มีสาระสำคัญ และมีสรรพคุณทางยา เช่น มีน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเฉพาะใช้ในการบำบัดโรค มีสีสันสวยงาม หาง่าย ราคาถูก ประหยัด ไร้สารสังเคราะห์ และไม่มีพิษตกค้าง ทำให้สบู่ที่ผลิตขึ้นจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมีคุณลักษณะเฉพาะที่หลากหลาย จึงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของสบู่สมุนไพรที่มีคุณค่ายิ่งของภูมิปัญญาไทย



นวพร เอี่ยมธีระกุล
yanincosmeticbangkok.com
Call Center : 0816518088
Line : yanin..cosmetics

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น