วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การดูแลรักษาฝ้า



“กระ” หรือ “ฝ้า” คือ รอยดำในชั้นผิวหนัง ซึ่งเกิดจากเซลล์ที่สร้างเม็ดสี ทำงานมากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง อาจทำให้เกิดฝ้า กระได้ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด ที่อาจพบว่า มีฝ้าและกระได้ และความเครียด อีกทั้งการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และที่สำคัญ คือ แสงอุลตร้าไวโอเลต(Ultraviolet) ในแสงแดด ส่วนรอยดำบนผิวหนังซึ่งอาจเกิดจาก รอยสิว การอักเสบหรือการระคายเคืองบนใบหน้า

สำหรับการรักษาฝ้า ฟังดูแล้วมีหลักการที่ไม่ยาก คือ พยายามหาสาเหตุและป้องกันอย่าให้ฝ้าใหม่เกิดขึ้น ร่วมกับการทาครีมกันแดด แต่จริง ๆ แล้ว เวลาปฏิบัติไม่ง่ายเลย เผลอแป๊ปเดียวฝ้าก็กลับเป็นขึ้นมาอีก เมื่อไปถูกสิ่งกระตุ้น เช่น แสงแดด ยาคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งการดูแลรักษาฝ้านั้น ในอันดับแรกควรหลีกเลี่ยงในช่วงเวลาที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตมาก ๆ ควรใส่เสื้อแขนยาว เสื้อคอปิด ใส่หมวกปีกกว้างหรือกางร่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝ้า นอกจากนั้น ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่สำคัญที่ควรตระหนัก คือ พื้นคอนกรีต พื้นทราย พื้นน้ำ สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้ แม้อยู่ใต้ชายคาบ้าน คุณก็ยังมีโอกาสได้รับแสง UV หรือแม้ในวันที่มีเมฆคลึ้มหนาก็ยังคงต้องทาครีมกันแดด เพราะเมฆคลึ้มไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้

ควรเลือกให้เหมาะสมกับผิวและงานหรืองานอดิเรกที่จะทำในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าเล่นกีฬากลางแจ้ง ต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ที่สูงขึ้น หรือถ้าว่ายน้ำควรเลือกครีมกันแดดที่กันน้ำได้ ซึ่งจะมีข้อความเขียนระบุไว้ว่า “Water proof” ปกติแล้วการทาครีมกันแดด ควรทาก่อนตากแดดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้าตากแดดนานมากควรต้องทายากันแดดซ้ำอีก

  1. สารกันแดดที่ดูดซึมรังสี UV (Chemical Sunscreen) จะแบ่งเป็นสารดูดซึมเฉพาะ UVB หรือสารที่ดูดซึมได้เฉพาะ UVA และสารที่ดูดซึมได้ทั้ง UVBและ UVA ซึ่งจะทำให้แสงไม่ผ่านเข้าไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี ผิวหน้าจะขาวขึ้นหลังใช้ผลิตภัณฑ์ประมาณ 3-4 สัปดาห์ สารกันแดดในกลุ่มนี้ทาแล้วไม่มีสี หน้าจึงไม่ขาวโพลนแต่บางคนอาจจะเกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวหนังได้
  2. สารกันแดดที่สะท้อนและกระจายแสง (Physical Sunscreen) ซึ่งสามารถสะท้อนได้ทั้ง UVB และ UVA สารเหล่านี้จะไม่เกิดอาการแพ้ แต่ทาแล้วจะทำให้หน้าขาวโพลนดูไม่เป็นธรรมชาติ ข้างหลอดของสารกันแดดทั้งสองชนิดจะระบุความสามารถในการป้องกันการไหม้แดดที่เรียกว่า SPF โดยจะกำหนดเป็นตัวเลข ซึ่งความสามารถในการป้องกันแสงแดดในที่นี้คือ หากคน ๆ หนึ่งตากแดด 30 นาที และผิวแดงแสบ ถ้าทาครีมกันแดดที่มี SPF15 หมายความว่า คน ๆ นั้น จะสามารถตากแดดได้นานเป็น 15 เท่าหรือประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแดงไหม้ที่ผิว

หลักในการทาครีมกันแดด มีดังนี้
  1. เลือกใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้อง คือ ป้องกันได้ทั้งแสงอุลตร้าไวโอเลต ชนิดและ B (UVA และ UVB) โดยครีมกันแดดที่ดีควรมีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และถ้าต้องอยู่กลางแจ้งนาน เช่น มีกิจกรรมกลางแดด หรือต้องสัมผัสแดดตลอดเวลา ควรเลือกใช้ค่า SPF 60 ขึ้นไป
  1. ควรทาครีมกันแดดอย่างน้อยวันละ 2 รอบ คือ เช้า และบ่าย เนื่องจากครีมกันแดดที่ใช้โดยทั่วไป มักอยู่ปกป้องผิวหน้าได้เพียง 4-5 ชั่วโมง ต่อการทา 1 ครั้ง ดังนั้น การทาครีมกันแดดตอนเช้าเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถป้องกันแดดได้ตลอดวัน ซึ่งในช่วงบ่ายถ้าเป็นไปได้ ควรทาครีมกันแดดอีกรอบหลังล้างหน้า ซึ่งจะเห็นได้ว่า แสงอุลตร้าไวโอเลตมักจะแรงในช่วงตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น
  1. ถึงแม้ว่า จะทาครีมกันแดดแล้ว เวลาออกแดดควรใช้ร่ม หรือหมวกร่วมด้วยเสมอ เป็นการป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต 2 ชั้น และความร้อนอาจทำให้ครีมกันแดดละลาย เปิดช่องว่างของใบหน้าต่อแสงแดดได้

ข้อพึงระวัง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือเครื่องสำอางบางชนิดที่มีฮอร์โมนผสมอยู่ ซึ่งจะเป็นสาเหตุในการเกิดฝ้า การรักษาฝ้าในปัจจุบันวางขายมากมายในท้องตลาด ดังนั้น ควรศึกษาส่วนประกอบและคุณภาพของครีมดังกล่าวให้ดีพอก่อนการตัดสินใจ เนื่องจาก ครีมบางชนิดไม่เกิดผลข้างเคียงในระยะแรก แต่อาจทำให้เกิดผิวบางแดง มองเห็นเส้นเลือดฝอย กลายเป็นฝ้าเส้นเลือด ซึ่งรักษาให้หายยากมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคบางรายกลับมีหน้าดำมากขึ้นกว่าเดิมจากการแพ้หรือจากการใช้ยาฝ้าเป็นเวลานาน ดังนั้น ควรไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ผิวหนังโดยตรงเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว

นอกจาก การใช้ครีมกันแดดแล้ว อาจต้องใช้ครีม ยาที่ทำให้สีของฝ้าจางลงเช่น ไฮโดรควิโนน สตรีรอยด์ และกรดวิตามินเอ สารทั้งหมดดังกล่าวอาจหยุดยั้งการทำงานของเซลล์ เมลาโนไซต์ โดยที่เมลาโนไซต์ยังไม่ตาย ซึ่งการรักษาต้องทาครีม ยาทุกวันสีผิวเรียบเสมอกัน หลังจากนั้น จึงค่อย ๆ หยุดยา ถ้าหยุดครีม ยากะทันหัน ฝ้าอาจดำคล้ำขึ้นมาได้ และควรจะต้องใช้ครีมกันแดดร่วมแต่ต้องจำไว้เสมอว่า ยังไงก็ต้องหลบแดดอยู่นะค่ะ เพราะว่าแดดเมืองไทยร้อนจัดมาก

ยารักษาฝ้าที่ทางการแพทย์นิยมใช้ คือ
  1. ไฮโดรควิโนน เป็นยาในรูปแบบครีม มีความเข้มข้นร้อยละ 2 ถึง 4 ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่การใช้ยาในความเข้มข้นสูงเป็นเวลานาน อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งได้แก่ การแพ้ระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่ใบหน้า หรือผิวหนังถาวร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงประกาศห้ามใช้สารนี้เป็นเครื่องสำอาง แต่ใช้ในความดูแลของแพทย์
  2. กรดวิตามินเอ ออกฤทธิ์รบกวนการส่งกระจายเม็ดสีเมลานิน และทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดลอกออกเร็วขึ้น ใช้รักษาฝ้าได้ผลดี แต่การใช้ยาตัวนี้เป็นเวลานานจะทำให้หน้าบาง แดง ระคายเคือง และไวต่อแสงแดดได้
  3. ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีของเซลล์สร้างสีทำให้ฝ้าจางได้เช่นกัน แต่การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานานจะทำให้หน้าบาง แดง มีสิวขึ้นได้

สำหรับ “กระ” เรามักสบสนกับ “ฝ้า” เสมอมา “กระ” นั้นจะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มเล็ก ๆ เห็นขอบชัดเจนบางครั้งอาจสับสนกับ “ขี้แมลงวัน” ซึ่งเกิดบริเวณใบหน้า ซึ่ง “ขี้แมลงวัน” จะมีลักษณะดำเข้ม กลม ขอบเขตชัดเจน และอาจนูนเล็กน้อย จากบริเวณผิว “ขี้แมลงวัน” จะไม่เข้มขึ้นเมื่อถูกแดดแต่“กระ” จะเข้มขึ้น และเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อถูกแดด “กระ” มักจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และมักพบในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวคล้ำ “กระ” ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า โดยไม่มีอันตราย
 ญานิน-ฝ้า-กระ
ปานโฮริ (Nevus of Hori)
กระลึกโฮริ (ปานโฮริ) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเทา ๆ เห็นเป็นเงาลึก ๆ ขอบเขตไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่อยู่บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง ซึ่งกระโฮริ (ปานโฮริ) เป็นกระที่พบมากในผิวคนเอเชียร้อยละ 20-30 แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่า ตัวเองเป็นปานโฮริ มักจะคิดว่า ตัวเองเป็น “ฝ้า” ซะมากกว่า กระชนิดนี้ไม่ตอบสนองต่อครีม หรือเซรั่มทาฝ้าใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจาก เกิดขึ้นในชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) สามารถรักษาด้วย Q-switched Nd-YAG laser การวินิจฉัยแยกระหว่างฝ้าและปานโฮริ ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยในวินิจฉัยเท่านั้น

โดยหลักการแล้ว การที่จะทำให้ฝ้า กระ หรือรอยดำ จางลงนั้น มี 2 วิธี คือ
  1. ใช้ครีม ยาทาเพื่อให้ฝ้า กระ หรือรอยดำจางลง วิธีนี้ใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ แล้วแต่การตอบสนองของผิวหนังแต่ละคน ซึ่งจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกันไป บางรายก็จะดีขึ้นเร็ว บางรายอาจจะค่อย ๆ ดีขึ้น
  1. การทำทรีทเม้นต์ ได้แก่ AHA ทรีทเม้นต์ lontophoresis, การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ การกรอขัดผิว (Microdermabrasion), Mesotherapy ซึ่งถ้าทำทรีทเม้นต์ร่วมกับการใช้ครีม ยาจะทำให้รอยดำ ฝ้า กระ จางลงเร็วขึ้น ทำให้หน้าขาวใสมากขึ้น

อนึ่ง ถ้าพยายามป้องกันสาเหตุดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ทำให้ฝ้า กระ หรือรอยดำเข้มขึ้น เช่น ใช้ยาฉีดหรือวิธีอื่นในการคุมกำเนิด หรือโดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานยาในการคุมกำเนิด เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีผลต่อฝ้า กระน้อยที่สุด และควรหลีกเลี่ยงความเครียด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และควรทาครีมกันแดดให้ถูกต้อง

โดยสรุปแล้ว ในการรักษาฝ้าที่ถูกต้อง คือ ต้องทาครีม ยาให้สม่ำเสมอและต่อเนื่องจนกว่าฝ้าจะจางลง โดยให้ทาในส่วนที่เป็นฝ้าก่อนนอนทุกคืน เมื่อรอยฝ้าจางหายไปแล้วให้ทาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ้าเกิดขึ้นได้อีก นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการรักษาฝ้า โดยการใช้สารเคมีอื่นๆ  เช่น กรดโคจิก กรดอะเซลิอิก เป็นต้น

นวพร เอี่ยมธีระกุล

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น