วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

การดูแลผิวทารก

การดูแลผิวทารก

การดูแลผิวพรรณลูกน้อยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในทารกแรกเกิด ผิวของลูกน้อยบอบบางมากต้องดูแลเป็นพิเศษ คุณแม่คงเป็นอีกคนหนึ่งที่เวลาจะใช้ผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับผิวของทารกก็ต้องไตร่ตรองคิดแล้วคิดอีก เพราะกลัวทั้งปัญหาการแพ้ การระคายเคือง หรือเวลาที่ลูกมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง คุณพ่อและคุณแม่ก็มักกังวลใจและไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี สื่อการโฆษณาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผิวมีจำนวนมาก ข้อสำคัญจะเลือกอย่างไรถึงจะปลอดภัยกับลูกรัก เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่เป็นอันดับแรก คือ ควรหาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผิวพรรณของลูกน้อยตามวัย รู้จักวิธีการดูแลรักษาผิวพรรณของลูกน้อย อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ คุณอาจเห็นว่า ทารกมีผิวที่เหี่ยวและลอก บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า สำหรับทารกแรกเกิดอาจเกิดอาการเช่นนี้ เพราะเด็กมีผิวลอกหรือแห้ง เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับทารก และจะหายไปภายใน 1-2 วัน ควรเน้นความสะอาดเป็นอันดับแรก

วิธีทำความสะอาดผิวหนัง

โดยทั่วไปการดูแลผิวหนังของทารกแรกเกิด คือ การอาบน้ำธรรมดาด้วยน้ำสะอาด และการเช็ดล้างบริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ ด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วด้วยสำลี ชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณก้อน ถ้าเปื้อนมากอาจใช้สบู่อ่อน ๆ ล้างออกทุกครั้งระหว่างเปลี่ยนผ้าอ้อมหรืออาจจะโรยแป้งฝุ่นบาง ๆ ส่วนการเลือกใช้ครีมทาผิวควรเป็นครีมสำหรับผิวเด็ก ก่อนใช้ควรทดสอบบริเวณแขนหรือขา ในปริมาณที่น้อยก่อนถ้ามีอาการแพ้ต้องหยุดใช้ และควรรีบไปปรึกษาแพทย์


การป้องกันและการดูแลรักษา


คุณแม่จะต้องคอยดูแลและหลีกเลี่ยงลูกจากแสงแดด ควัน ฝุ่นละออง อากาศที่ร้อนและชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเหงื่อ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดผดผื่นชนิดต่าง ๆ ได้ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่หนาและรัดเกินไปให้กับลูก เพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก และเสียดสีผิวหนัง จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ และระคายเคืองได้ ส่วนในรายที่ผิวแห้งมากในหน้าหนาว ควรใช้ครีมสำหรับทารกทาผิวก่อนนอน หรือผสมออยล์ในน้ำอาบ จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้น นอกจากการดูแลสภาพผิวภายนอกแล้ว การดูแลร่างกายภายในโดยการเลือกรับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ การพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เป็นเกราะป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะฤดูไหนถ้าเราใส่ใจสุขภาพ รู้จักวิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เราก็สามารถปรับตัวเข้ากับอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การเสริมสร้างสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด


การพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และวิธีการใช้


ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหนังเด็กทารก ควรมีความอ่อนโยนต่อผิวหนัง ไม่ควรมีน้ำหอม สีย้อมหรือแอลกอฮอลล์เป็นส่วนประกอบ เด็กชอบขยี้ตาตัวเองอาจทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นได้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ alpha hydroxy acids จะทำให้ผิวเด็กแสบ แดง เหมือนโดนน้ำร้อนลวกเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะถ้าใช้กับบริเวณที่มีรอยแตกของผิวหนัง ยาหม่องหรือขี้ผึ้งต่าง ๆ ที่ใช้ทาแก้ผื่นคันก็อาจเป็นอันตรายต่อผิวเด็กที่บอบบางได้ เพราะมักมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการระคายเคือง


ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนัง


ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังเด็กทารก อาจอยู่ในรูปของสบู่ก้อน หรือสบู่เหลว การอาบน้ำด้วยน้ำเปล่าอาจไม่สามารถทำความสะอาดผิวหนังเด็กได้ดีเพียงพอ ผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ไม่ควรมีฟอง ไม่มีความเป็นด่างมาก ไม่มียาฆ่าเชื้อโรค เช่น Trichosan ไม่มีสี และไม่มีน้ำหอม ฟองจะทำให้ไขมันตามธรรมชาติที่มีอยู่ที่ผิวหนังลดน้อยลงเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ ความเป็นด่างและยาฆ่าเชื้อโรคทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง สีและกลิ่นทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ โดยทั่วไปสบู่ก้อนมักก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังมากกว่าสบู่เหลว อย่างไรก็ตาม ในการอาบน้ำแต่ละครั้งไม่ควรใช้สบู่มากเกินไป ไม่ควรถูสบู่ทิ้งไว้บนผิวหนังเป็นเวลานาน และหลังการอาบน้ำทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งจนไม่มีสารเหลือตกค้างบนผิวหนัง


แชมพูสระผม


แชมพูสำหรับเด็กทารกที่ดีควรมีความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับน้ำตา เพื่อไม่ให้เกิดความระคายเคืองต่อตา แชมพูควรมีความหนืดเพียงพอที่จะไม่ไหลลงมาโดนตาของเด็ก แชมพูเด็กส่วนใหญ่มักผสมสีและน้ำหอมซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ แชมพูบางชนิดอาจมีส่วนผสมของตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคที่หนังศรีษะ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่จึงควรใส่แชมพูให้ทั่วหนังศรีษะและใช้ผ้าขนหนูหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 10-20 ก่อนล้างออก



สารเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizers)


สารสกัดมอยเจอไรเซอร์ (Moisturizers) เป็นสารสกัดเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม ไม่หยาบกระด้าง แต่เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อนเป็นส่วนใหญ่ ในเด็กที่ไม่มีปัญหาผิวแห้งหรือไม่ใช่หน้าหนาว จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้มอยเจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ในเด็กที่มีปัญหาผิวแห้งที่ต้องใช้มอยเจอไรเซอร์เป็นประจำทุกวัน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของมิเนรอลออย (Mineral oil) หรือ เพทโรเลทัม (petrolatum) ไม่ควรมีส่วนประกอบของน้ำหอม สารแอลฟาไฮดรอกซีแอชิด (alpha hydroxyl acids) หรือ สารกันแดด


แป้ง 


การใช้แป้งในเด็กทารก เพื่อลดความเปียกชื้นบริเวณข้อพับต่าง ๆ วิธีการใช้ควรเทแป้งลงบนฝ่ามือของคุณแม่เบา ๆ ไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วใช้มืออีกข้างแตะแป้งแล้วค่อยๆ ทาบนตัวเด็ก ไม่ควรเทแป้งลงบนตัวเด็กโดยตรงเพราะจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของแป้งและอาจทำให้เด็กหายใจเอาแป้งเข้าปอดเป็นอันตรายได้


น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า


คุณแม่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเด็กที่ไม่มีส่วนประกอบสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง ได้แก่ pentachlorophenol และ sodium hypochlorite และควรล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งจนหมด ควรซักเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่เพื่อชะล้างสารเคมีต่าง ๆ ออกให้หมดก่อนนำมาให้เด็กสวมใส่

โดยสรุปแล้ว ผิวหนังของเด็กทารก เด็กอ่อนจะมีความบอบบาง และเกิดผื่นแพ้ได้ง่าย ควรเลือกใช้แต่ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเท่านั้น และถ้าเกิดผื่นขึ้นควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันทีและรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป



นวพร เอี่ยมธีระกุล

Website : http://yanincosmetic.com
Website : http://yanincosmeticbangkok.com
Email : info@yanincosmeticbangkok.com 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น